top of page

กายภาพบำบัด คืออะไร จำเป็นต้องทำไหม เมื่อทำแล้วต้องทําตลอดชีวิตรึเปล่า ?


กายภาพบําบัด

กายภาพบำบัด คืออะไร


กายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ส่งเสริม ป้องกัน รักษา และจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของร่างกายมนุษย์ที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงชีวิต กายภาพบำบัด จะกระทำโดย นักกายภาพบำบัด Physical Therapist หรือเรียกย่อว่า PT


นักกายภาพบำบัดจะมีสิทธิ์สอบใบประกอบวิชาชีพ เพื่อทำงานเป็นนักกายภาพบำบัดตามสถานที่ต่าง ๆได้ รักษาโดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดและหัตถการต่าง ๆ ของวิชาชีพกายภาพบำบัด การไปพบนักกายภาพบำบัดมักทำได้โดยไม่ต้องรอให้แพทย์เป็นผู้ระบุว่าจำเป็นต้องใช้การกายภาพบำบัด แต่หากมีอาการป่วยรุนแรง หรือได้รับบาดเจ็บหนัก กายภาพบำบัดอาจะไม่ใช่ทางเลือกในการรักษา


ใครบ้างที่ควรกายภาพบำบัด

  • ผู้ที่เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ปวดแขน ปวดหลัง ปวดสะโพก ปวดเข่า ปวดขา ปวดข้อเท้า

  • ผู้ที่เริ่มมีอาการชาลงแขน และชาลงขา

  • ผู้ที่มีลักษณะการเดินที่เผิดปกติ เช่น เดินตัวเอียง เดินลากเท้า ยกแขนขาได้ไม่สุด งอเหยียดเข่าไม่ได้ เป็นรองช้ำ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง

  • ผู้ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้สุดช่วงการเคลื่อนไหว เช่น ข้อไหล่ติด ข้อเข่าติด นิ้วล็อค

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการทำกิจกรรม เช่น ออกกำลังกาย เล่นกีฬา

  • ผู้ป่วยหลังผ่าตัดสมองและผ่าตัดข้อเสื่อม เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเริ่มขยับตัวลำบากและเริ่มลุกนั่งไม่ได้

  • ผู้ที่เป็น ออฟฟิศซินโดรม นั่งทำงานนาน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

กายภาพบำบัด ตำแหน่งไหนได้บ้าง


นักกายภาพบำบัด สามารถปฏิบัติงานได้หลายอย่าง เช่น ในโรงพยาบาล ดูแลผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางสมองและหลอดเลือด เช่น โรคเส้นหลอดสมองตีบ/แตก(ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต) ผู้ป่วยระบบทรวงอกหลอดเลือดและหัวใจ เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอักเสบ โรคถุงลมโปร่งพอง และดูแลผู้ป่วยระบบกล้ามกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น โรคออฟฟิศซินโดรม ปวดหลัง ปวดเข่า โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคเข่าเสื่อม รวมถึงดูแลผู้ป่วยก่อนและหลังผ่าตัด ฯลฯ


คลินิกกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่ดูแลผู้ป่วยทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก


กายภาพบำบัด มีกี่ประเภท


กายภาพบำบัดสามารถแบ่งสาขาได้ดังนี้

  1. กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (orthopedic)

  2. กายภาพบำบัดด้านระบบประสาท(Neurological)

  3. กายภาพบำบัดหลอดเลือดและหัวใจ(Cardiopulmonary)

  4. กายภาพบำบัดในผู้ป่วยเด็ก(Pediatric)

  5. กายภาพบำบัดผู้สูงวัย(Geriatric)

ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านกายภาพบำบัด มีอะไรบ้าง


ความรู้ทางด้านกายภาพบำบัดค่อนข้างกว้าง นักกายภาพบำบัดจะศึกษาเพิ่มเติมในขอบเขตที่ลึกลงไปจนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมีดังนี้


  1. กายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ (orthopedic) นักกายภาพบำบัดระบบกระดูกและกล้ามเนื้อหรือนักกายภาพบำบัดออโธปิดิกส์จะดูแลตรวจวินิจฉัยโรค และการบาดเจ็บของร่างกายในส่วนของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมไปถึงการฟื้นฟูผู้ป่วยหลังทำศัลยกรรมออโธปิดิกส์ นักกายภาพที่เชี่ยวชาญด้านนี้ มักจะปฏิบัติงานที่คลินิกทำการรักษาผู้ป่วยจากการบาดเจ็บเฉียบพลันมีอาการปวด บวม แดง ร้อน ตามร่างกาย กายภาพบำบัดกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น ปวดคอ บ่า หลัง ปวดไหล่ บาดเจ็บจากกิจกรรม, ข้อเสื่อม, ออฟฟิศซินโดรม, โรคกระดูกสันหลังคด ข้อติดแข็ง, การเพิ่มความแข็งแรง, หลังค่อม, และการเพิ่มการเคลื่อนไหว เป็นต้น

  2. กายภาพบำบัดระบบประสาท(Neurological) นักกายภาพบำบัดระบบประสาทจะดูแลเฉพาะเจาะจงลงไปในผู้ป่วยแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นผู้ที่มีภาวะโรค หรือ ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคสมองที่ได้รับการกระทบกระเทือน, โรคสมองพิการแต่กำเนิด,โรคเส้นเลือดในสมองตีบ/แตก,โรคไขสันหลังได้รับการบาดเจ็บ สูญเสียรูปแบบการทำงานที่เคยทำเองได้ นักกายภาพบำบัดจะทำการเพิ่มพัฒนาการในส่วนที่เสียไป

  3. กายภาพบำบัดระบบหัวใจและหลอดเลือด นักกายภาพบำบัดระบบหัวและหลอดเลือดจะดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจและปอดเป็นการทำหัตถการเพื่อระบายของเสียออกจากปอด ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยที่เป็นพังผืดที่ถุงลม โรคติเชื้อทางระบบทางเดินหายใจมีเสมหะเหนียวแห้ง โรคปอดอุดกลั้นเรื้อรัง และผู้ป่วยที่หลังทำการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินหลอดเลือดหัวใจ(By pass)

  4. กายภาพบำบัดในผู้ป่วยเด็ก นักกายภาพบำบัดผู้ป่วยเด็กจะดูแลตรวจหาปัญหาสุขภาพตั้งแต่แรกเริ่ม และใช้เทคนิคการรักษาเฉพาะทางสำหรับแก้ความผิดปกติของเด็ก นักกายภาพบำบัดจะมีความชำนาญเป็นพิเศษในการวินิจฉัย ให้การรักษาและการจัดการในเด็กทารก เด็ก และวัยรุ่นเกี่ยวกับภาวะที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด การพัฒนาการ ระบบกล้ามเนื้อประสาท ระบบกระดูก และภาวะโรคหรือความผิดปกติที่เกิดหลังคลอด การรักษามุ่งเน้นการเพิ่มทักษะเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็ก การทรงตัวความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ รวมถึงการแปลผลทางการับรู้ การรับสัมผัส ผู้ป่วยส่วนใหญ่คือ เด็กที่มีการพัฒนาการล่าช้า สมองพิการแต่กำเนิด

  5. กายภาพบำบัดผู้สูงวัย (Geriatric) นักกายภาพบำบัดจะดูแลผู้สูงวัยที่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาโรค ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ ภาวะกระดูกบาง มะเร็ง โรคอัลไซเมอร์ การเปลี่ยนข้อสะโพก และข้อต่ออื่น ๆ การกลั้นปัสสาวะ อุจจาระไม่อยู่ เป็นต้น กายภาพบำบัดจะให้โปรแกรมพิเศษที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ลดอาการปวดและเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย

อุปกรณ์ช่วยในการกายภาพบำบัด

กายภาพบำบัดมีเครื่องมือมีอะไรบ้าง

  1. เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulator) เป็นการกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อเกิดฟังก์ชันช่วยคลายกล้ามเนื้อชั้นตื้นและชั้นลึกได้

  2. เครื่องคลื่นอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound therapy) เป็นคลื่นเหนือเสียงที่มีความถี่อาศัยคลื่นสั่นสะเทือนลงชั้นกล้ามเนื้อได้ 3-5เซนติเมตรทำให้กล้ามเนื้อที่เป็นลำเป็นก้อนเกร็งคลายตัวออกและนิ่มลง ลดปวด ลดบวม เพิ่มการไหลเวียนเลือดและอาการในเซลล์กล้ามเนื้อ

  3. เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser Therapy) เป็นเลเซอร์ที่มีความถี่สูง ปล่อยพลังงาความถี่สูงช่วยลดการอักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน เร่งซ่อมสร้างเนื้อเยื่อที่ได้รับบาดเจ็บ

  4. เครื่องรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave Therapy) เป็นคลื่นกระแทกที่กระตุ้นให้พังผืดได้รับการบาดเจ็บเพื่อให้ร่างกายสร้างเซลล์กล้ามเนื้อใหม่ทำให้สลายพังผืดและทำให้ชั้นกล้ามเนื้อคลายตัวลง

  5. เครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า(Electromagnetic Stimulator) เป็นการเหนี่ยวนำของคลื่นแม่เหล็กให้เกิดการกระตุ้นของระบบเส้นประสาทในกล้ามเนื้อให้เกิดการทำงานตามฟังก์ชันของกล้ามเนื้อนั้น ๆ กระตุ้นการคลายกล้ามเนื้อชั้นลึกที่ปวดจากการรัดเกร็งของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

  6. เครื่องดีงหลังดึงคอ (Pelvic/Cervical Traction) เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อคอและหลัง กรณีมีภาวะการทรุดตัวของกระดูกสันหลังจะเพิ่มช่องว่างของกระดูกสันหลัง ลดการกดทับของเส้นประสาท

  7. ฝังเข็ม (dry needling) การฝังเข็มคลายจุดบริเวณที่กล้ามเนื้อ เป็นการฝังเข็มเฉพาะที่ คลายกล้ามเนื้อที่เป็นปม หดเกร็งเป็นก้อนๆ ช่วงลดอาการปวดที่สาเหตุเกิดการการเกร็ง การหดตัวของกล้ามเนื้อ

นอกจากใช้เครื่องมือมีวิธีบำบัดอะไรอีกบ้าง

เทคนิคบำบัดด้วยมือ (Manual therapy)

Deep friction การกดแรงลงไปตรงจุดกดเจ็บของกล้ามเนื้อเพื่อขยายคลายก้อนกล้ามเนื้อกระต้นให้เกิดการไหลเวียน


Mobilization การตึงขยับข้อต่อ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะข้อติดแข็ง เช่น โรคข้อไหล่ติด นักกายภาพบบำบัดจะพิจารณาการติดของข้อตรวจกระดูกและกล้ามเนื้อเกี่ยวพันบริเวณที่ดัด ขยับ ดึงให้ยืดหยุ่นและกลับเข้าที่ เพิ่มการเคลื่อนไหวมากขึ้น


Exercise Therapy เป็นการออกแบบท่าออกกำลังกายของแต่ละบุคคลโดยการบริหารการยืดกล้ามเนื้อเพื่อปรับสมดุลเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อป้องกันการบาดเจ็บและการเกร็งตัวของกล้ามนื้อซ้ำอีก


ประโยชน์ของการกายภาพบำบัด


1. ลดปวดโดยไม่ต้องใช้ยา

2. แก้ไขความบกพร่องของร่างกาย

3. หลีกเลี่ยงการผ่าตัด

4. รักษาได้ตรงจุดปวด

5. ป้องกันกล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนแรง

6. คืนความยืดหยุ่นและสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ

7. ปรับสมดุลของร่างกายแบบยั่งยืน

ขั้นตอนการทำกายภาพบำบัด


ขั้นตอนการรักษาทางกายภาพบำบัดจะมีการตรวจประเมินร่างกาย การตรวจโครงสร้างสรีระของร่างกาย หาต้นตอ สาเหตุและวิเคราะห์อาการปวดรวมถึงระยะของโรค และวางแผนการรักษา การตรวจประเมินร่างกายนักกายภาพบำบัดมักพบความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายที่มีความสัมพันธ์กัน


โดยเฉพาะอาชีพมักมีการใช้งานซ้ำ ๆบ่อย ๆ เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอ บ่า มักพบว่ามีไหล่ห่อ คอยื่นและกระดูกสันหลังโค้งร่วมด้วย หากจำเป็นนักกายภาพบำบัดอาจจะต้องใช้ผลX-RAY หรือMRI ประกอบการรักษาด้วย


การกายภาพบำบัดที่บ้าน

นักกายภาพจะเข้าไปดูแลผู้ที่มีอาการปวด ชา และกายภาพบำบัดแขนขาอ่อนแรงให้ที่บ้านโดยใช้ เครื่องมือกายภาพบำบัดลดปวด เช่น เครื่องอัตร้าซาวด์ชนิดพกพา แผ่นประคบร้อนไฟฟ้า ฝึกการทรงตัว ฝึกการลุกนั่งบนเตียง ฝึกยืน ฝึกเดิน และฝึกฟังก์ชั่นของแขนขาให้สามารถใช้งานได้ปกติ


ข้อควรระวังในการการกายภาพบำบัด

  • ความถี่ที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัดในช่วงแรกควรทำต่อเนื่องสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ถ้าทำมากไป กล้ามเนื้ออาจจะเกิดอาการล้า ระบม และอ่อนเพลีย แต่หากทิ้งช่วงการรักษานานเกินไปเป็นสองสัปดาห์ครั้งหรือเดือนละ 1 ครั้ง การรักษาจะเห็นผลช้า

  • หลังกายภาพบำบัดไม่ควรกดบีบนวดกล้ามเนื้อบริเวณที่รักษาเพราะจะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบเขียวช้ำได้ง่าย


การกายภาพบำบัด ราคาเท่าไหร่

  • ขึ้นอยู่กับบริเวณที่รักษาและเครื่องมือที่ใช้

  • ราคารักษาเฉพาะจุด เริ่มต้นที่ 1,250 บาท

  • ราคารักษาครอบคลุมทั้งตัว เริ่มต้นที่ 2,150 บาท

การกายภาพบำบัด ที่ไหนดี

วิธีดูว่าควรจะทำ กายภาพบำบัดที่ไหนดี ควรดูดังนี้

  • สถานที่ที่อยู่ใกล้บ้านสามารถเดินทางไปได้สะดวก

  • มีที่จอดรถสะดวก

  • มีการบริการที่สะดวก สะอาดและรวดเร็ว

  • มีวิธีการรักษาที่ตรงจุดแก้ไขปัญหาอาการเจ็บปวดได้

  • มีนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

  • มีเครื่องมือกายภาพที่ทันสมัย

ขอบเขต หน้าที่ของนักกายภาพบำบัด

นักกายภาพบำบัดมีหน้าที่ ตรวจประเมินร่างกาย วินิจฉัยโรค วางแผน และรักษาได้โดยไม่ต้องรอให้แพทย์เป็นผู้ระบุว่าจำเป็นต้องใช้การกายภาพบำบัด แต่หากมีอาการป่วยรุนแรง หรือได้รับบาดเจ็บหนัก นักกายภาพบำบัดอาจไม่ใช่ทางเลือกหลักในการรักษา และไม่สามารถทำหน้าที่แทนแพทย์ได้ กรณีแพทย์อาจเป็นผู้แนะนำให้ทำการรักษาด้วยกายภาพบำบัดเมื่อร่างกายพร้อม และนักกายภาพบำบัดจะทำการรักษาร่วมกับแพทย์ ระหว่างที่นักกายภาพบำบัดให้บริการจะคอยประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาแผนการรักษาในบางท่าทางนักกายภาพบำบัดอาจใช้เทคนิคหัตถการช่วยในการทำกายภาพบำบัด


เมื่อทำกายภาพบำบัดต้องทำตลอดชีวิตไหม


การรักษากายภาพบำบัดเป็นการรักษาต่อเนื่องในช่วงแรกของการรักษาในภาวะมีอาการปวดเรื้อรังมานาน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดปวด ช่วงเเรกควรทำสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นกล้ามเนื้อฟื้นฟูดีขึ้นร่างกายจะสามารถใช้งานได้ปกติและสามารถหยุดทำกายภาพบำบัดได้ แต่หากมีอาการปวดกลับมาซ้ำบริเวณเดิมอีกคุณต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกล้ามเนื้อในท่านั่งทำงาน การทำงานในชีวิตประจำวัน ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตัวคุณเองเป็นหลักก่อน และต้องมีการบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อตามคำแนะนำของนักกายภาพบำบัด คุณก็ไม่จำเป็นต้องทำกายภาพบำบัดไปตลอด

กายภาพบำบัด มีความสำคัญไหม ไม่ทำได้รึเปล่า

กายภาพบำบัดมีความสำคัญมากถ้าร่างกายมีความบกพร่อง เช่น อาการปวด กล้ามเนื้ออ่อนแรงและข้อติดแข็ง หากไม่รับการทำกายภาพบำบัดในช่วงเวลาที่เหมาะสมอาการต่างๆจะเรื้อรังและใช้เวลาการรักษานานมากขึ้น

ความแตกต่างระหว่างการนวดกับการกายภาพบำบัด

การนวด คือการบีบ คลึง จับ กดจุด หรือใช้ลูกประคบ น้ำมัน สมุนไพรเพื่อให้ร่างกายผ่อนคลายเพื่อแก้อาการปวดเมื่อยส่วนต่าง ๆ อยู่ในชั้นผิวหนังของร่างกาย

กายภาพบำบัด คือ การรักษาอาการปวดของกล้ามเนื้อและกระดูก และโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย โดยจะใช้เครื่องมือกายภาพบำบัด เทคนิคบำบัดด้วยมือ ธาราบำบัด อุปกรณ์กายภาพบำบัด การออกกำลังกายและการยืดกล้ามเนื้อ







Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page