top of page

รองช้ำ หรือ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ แก้ไขได้อย่างไร สรีรารักมีคำตอบ




รองช้ำ (Plantar Fasciitis) คืออะไร

โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ หรือ รองช้ำ (Plantar Fasciitis) คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเส้นเอ็นใต้ฝ่าเท้า เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในเพศหญิง ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการเจ็บส้นเท้า เจ็บฝ่าเท้า โดยมักเกิดจากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ และสะสมมาเป็นเวลานาน และมักเป็นมากในตอนเช้าเมื่อลุกจากเตียง โดยอาการมักเป็นๆ หายๆ และเป็นมากขึ้นตามลักษณะการใช้งาน การอักเสบจะเกิดขึ้นที่เอ็นบริเวณส้นเท้าต่อเนื่องไปจนถึงเอ็นร้อยหวาย ในรายที่เป็นมานาน หรือ ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาการจะเรื้อรังมากขึ้น และมักเอกซเรย์พบหินปูนงอกบริเวณกระดูกส้นเท้าด้วย



อาการรองช้ำ

ผู้ที่เป็นโรครองช้ำจะมีอาการปวดและกดเจ็บบริเวณส้นเท้า ลักษณะของอาการเจ็บจะเป็นแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดแสบ ในระยะแรก อาจเกิดอาการภายหลังการออกกำลังกาย เดิน หรือยืนนาน ๆ แต่ถ้าอาการรองช้ำมีมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา บางรายจะเจ็บเมื่อลุกขึ้นเดิน 2 – 3 ก้าวแรกหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักขาเป็นเวลานาน จะรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้า เนื่องจากเกิดการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบอย่างทันทีทันใด แต่เมื่อเดินไประยะหนึ่ง เอ็นฝ่าเท้าจะค่อย ๆ ยืดหยุ่นขึ้น อาการเจ็บส้นเท้าจึงค่อย ๆ ทุเลาลง

ปัจจัยเสี่ยงโรครองช้ำ

  1. ผู้หญิง เนื่องจากไขมันส้นเท้าจะบางกว่า เอ็นและกล้ามเนื้อน่องและฝ่าเท้าไม่แข็งแรงเท่าผู้ชาย

  2. ผู้สูงอายุ เนื่องจากพังผืดฝ่าเท้ามีความยืดหยุ่นน้อยลง

  3. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ทำให้พังผืดฝ่าเท้ารับแรงกระแทกมากขึ้น

  4. ผู้ที่มีอาชีพยืนหรือเดินมาก ทำให้พังผืดฝ่าเท้าตึง เช่น นักวิ่ง

  5. ผู้ที่มีอุ้งเท้าสูงหรือแบนผิดปกติ จะมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น

  6. ผู้ที่ใส่รองเท้าพื้นแข็งหรือพื้นบางเป็นประจำ

  7. ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบเรื้อรัง

  8. ผู้ที่มีความผิดปกติการเดิน และการลงน้ำหนักผิดไปจากปกติ ซึ่งอาจเกิดมาจากอาการ ออฟฟิศซินโดรม ปวดหลัง ปวดข้อต่างๆ ที่ทำให้การเดินลงน้ำหนักผิดปกติ


การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัด

นักกายภาพบำบัดจะทำการตรวจประเมินการเคลื่อนไหวที่เท้า และเอ็นฝ่าเท้าโดยละเอียด หากพบการอักเสบ ปวด บวมของผังพืดฝ่าเท้า หรือปวดตึงไปตามขาหรือน่อง จึงจะรักษาด้วยเครื่องมือทางกายภาพบำบัด และสอนการทำกายบริหาร เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ โดยไม่จำเป็นต้องรับประทานยา หรือ เข้ารับการผ่าตัดแต่อย่างใด


วิธีรักษาโรครองช้ำที่ส้นเท้า


โรครองช้ำเป็นโรคที่สร้างความทรมาน จากอาการปวดเท้า ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาโรครองช้ำ จะใช้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดเป็นหลัก ประมาณ ร้อยละ 80 – 90 ของผู้ป่วย อาการจะดีขึ้น แต่ต้องใช้ความอดทนในการดูแลรักษาตัวเอง (อาจใช้เวลานานถึง 2 – 6 เดือน) และต้องอาศัยหลาย ๆ วิธีประกอบกัน คือ


1. การทำกายภาพบำบัด

เพื่อลดการอักเสบ ปวด บวม และคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น

2. การทำกายภาพบำบัดด้วยตนเอง

ได้แก่ – การประคบร้อนหรือเย็น – การยืดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นฝ่าเท้า ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพโดยในการยืดจะต้องทำค้างไว้ 10 วินาที ทำครั้งละประมาณ 10 ครั้ง ควรทำก่อนลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนและหลาย ๆ ครั้งต่อวัน

3. การใช้ยา

อาจเป็นยากินเพื่อลดอาการปวดและอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ถ้าอาการไม่ดีขึ้นอาจใช้ยาฉีดสเตียรอยด์ฉีดเฉพาะที่เพื่อลดอาการอักเสบ แต่จะจำกัดการใช้เพียง 2 – 3 ครั้ง

4. การพักใช้

หยุดกิจกรรมที่ต้องใช้เท้านาน ๆ ลดการออกกำลังกายที่หนักเกินไป ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่ต้องลงน้ำหนักที่เท้ามาก เช่น การว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และหลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาบนพื้นแข็ง

5. ลดน้ำหนัก


เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มากเกินไป เพราะเอ็นฝ่าเท้าก็ต้องรับน้ำหนักมาก ทำให้รักษาหายช้า

6. ใส่รองเท้าพื้นนุ่มในบ้าน

ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรใส่รองเท้าที่มีพื้นนุ่ม ส้นสูงกว่าส่วนหน้าเล็กน้อยอย่าเกิน 1-2 นิ้ว ไม่ควรใส่รองเท้าที่ราบเสมอกัน

7. การใช้แผ่นรองส้นเท้า

การใช้แผ่นรองที่อ่อนนุ่ม หรือสวมรองเท้าที่เหมาะสม ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี สำหรับผู้ที่มีฝ่าเท้าแบนอาจเลือกใช้แผ่นรองที่บริเวณอุ้งเท้าด้านใน (arch support) เพื่อไม่ให้เท้าล้มเวลาเดินลงน้ำหนัก, การใส่หรืออุปกรณ์รองรับส้นเท้า (heel cushion) และการใส่เฝือกอ่อนจะช่วยลดการเคลื่อนไหวที่ข้อเท้า อาจเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดอาการอักเสบในช่วงแรกได้ดี

8. การผ่าตัด (ส่วนน้อย)

หากรับการรักษาแล้วแต่ยังมีอาการไม่หายขาด จึงมีความจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เพื่อผ่าตัดพังผืดเท้าบางส่วนและนำหินปูนที่กระดูกส้นเท้าออก

ข้อควรระวัง


ในบางกรณี การบาดเจ็บเส้นเท้าอาจไม่ได้เกิดจากเอ็นฝ่าเท้าอักเสบเพียงอย่างเดียว ดังนั้นหากทำการบริหารแล้วยังมีอาการเจ็บอีก ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาและประมาณ 90 ของผู้ป่วยเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ (โรครองช้ำ) มักจะดีขึ้นหลังจาก 2 เดือน หลังได้รับการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาทางกายภาพบำบัด

การกายภาพบำบัด เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญในการรักษาภาวะรองช้ำ โดยจะใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด และการออกกำลังกาย เพื่อลดปวด อักเสบของเส้นเอ็น เพื่อลดการรับประทานยาและลดโอกาสเข้ารับการผ่าตัด โดยมีเครื่องมือดังนี้ 1. เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) ใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้เกิดการหดคลายตัวของกล้ามเนื้อ ลดความตึงและลดอาการปวด

2. เครื่องคลื่นกระแทก (Shock wave) ใช้การตอกคลื่นกระแทกบนผังพืดฝ่าเท้าที่หนาตัวเรื้อรัง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ลดอาการปวด

3. คลื่นเหนือเสียง (Ultrasound Therapy) ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อลดอาการปวด-อักเสบของเนื้อเยื่อ อาการบวม เร่งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่เกร็ง รวมไปถึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อในชั้นลึก

4. เครื่องเลเซอร์กำลังสูง (High Power Laser) ใช้ลำแสงเลเซอร์เพื่อกระตุ้นให้หลั่งสารลดปวด และลดการอักเสบเฉียบพลันของเส้นเอ็น อีกทั้งลำแสงเลเซอร์ช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซมเส้นเอ็นส่วนนั้นๆอีกด้วย

5. คลื่นกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral Magnetic Stimulator; PMS) อาศัยคุณสมบัติความเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มากระตุ้นเส้นประสาท ช่วยลดอาการปวด อาการชา จากการทำงานผิดปกติของปลายประสาทให้ดีขึ้น

6. การประคบร้อน-ประคบเย็น (Heat&Cold pack) ช่วยลดอาการปวด-อักเสบ ลดอาการบวมที่เกิดขึ้น เป็นต้น โดยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดแต่ละเครื่องมือจะมีคุณสมบัติเฉพาะที่ใช้คลายความตึง ลดความปวด และคืนอิสระให้กับการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ

สรุป

ภาวะรองช้ำ ดูเหมือนไม่ใช่การบาดเจ็บที่อันตรายแต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษา อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน จากความทรมานบริเวณฝ่าเท้าได้ หากมีอาการปวดส้นเท้าผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป และการรักษาโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบจะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นหลัก เพราะการใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่ทำให้หายได้ โดยผู้ป่วยต้องลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แก้ไขรองเท้า และทำกายภาพบำบัดยืดเอ็นฝ่าเท้าและกล้ามเนื้อน่องเป็นประจำ จึงจะทำให้อาการทุเลาได้


Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page