top of page

ปวดสะบัก ปวดหลัง อันตรายไหม รักษาได้อย่างไร


ชีวิตที่มีแต่ความเร่งรีบ ต้องทำงานอย่างหนัก มีเรื่องให้ทำเยอะแยะมากมาย จนทำให้ใครหลายๆคนหลงลืมที่จะดูแลเอาใจใส่ตนเอง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็กลับเริ่มมีอาการอะไรสักอย่างขึ้นมาเสียแล้ว

การปวดสะบัก เป็นหนึ่งในอาการที่คนมักเป็นกันบ่อย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องใช้กล้ามเนื้อสะบักในการทำงานบ่อยๆ ต้องใช้แรงยกของหนักๆจนเกินไป หรือแม้กระทั่งบุคคลทั่วไปที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การนั่งท่าที่ไม่ถูกต้อง การเล่นกีฬาหนักจนเกินไป ก็อาจทำให้สะบักเจ็บ หรือเกิดอาการตึงได้

ดังนั้น ในบทความนี้น้องสรีจะมาเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของสะบักหลัง ทั้งสาเหตุ อาการ รวมไปจนถึงวิธีแก้ไข วิธีการรักษา การบรรเทาต่างๆในกรณีที่เกิดอาการขึ้นแล้ว จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามอ่านกันได้ที่ข้างล่างนี้เลย


สาเหตุอาการปวดสะบัก

“การปวดสะบักเกิดจากอะไรกันนะ?” สาเหตุของอาการปวดสะบัก บางอย่างก็อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด การที่เราเริ่มมีอาการเจ็บสะบักหลังขึ้นมา อาจจะต้องสังเกตตนเองเสียก่อน เพราะปัจจัยหลักๆที่ทำให้เกิดการเจ็บหลัง หรือเจ็บสะบักขึ้นมาได้ จะต้องมีดังต่อไปนี้


พฤติกรรมที่ทำให้เกิดการปวดสะบัก เช่น การสะพายของหนัก การยกของ


หากคุณมีการทำพฤติกรรมเหล่านี้ในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็อาจเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปวดสะบักหลังขึ้นได้ ได้แก่…

  • การใช้แรงยกของหนักเกินกำลังตนเอง หรือยกของหนักผิดท่า

  • การมีท่าทางการนั่งที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งเอียงคอ นั่งก้มๆเงยๆคอ นั่งยื่นคอ ไหล่ห่อโดยไม่รู้ตัว

  • ทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อสะบักหลังซ้ำๆ เช่น การทาสีผนัง-เพดาน การรีดผ้า การซ่อมแอร์ หรือการทำสิ่งอื่นๆที่ต้องยกแขนค้างไว้เป็นเวลานาน ฯลฯ

  • มีการสะพายกระเป๋าหนักจนเกินไป


ปัญหาเชิงโครงสร้างร่างกาย เช่น กระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อ

  • เกิดความไม่สมดุลในการใช้งานบางส่วนของร่างกายมากจนเกินไป

  • มีการบาดเจ็บของกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อต่างๆ เส้นประสาทโดยรอบบริเวณนั้นบ่อยๆ และไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนนำไปสู่การปวดแบบเรื้อรัง

  • ผู้ที่มีปัญหาเรื่องปวดคอบ่าไหล่ อาการไหล่ติด หรือเป็นออฟฟิศซินโดรมมาก่อนแล้วไม่ได้รับการรักษาหรือการแก้ไข จนทำให้นำมาสู่อาการปวดสะบัก

  • คนที่มีภาวะกระดูกคอทับเส้นประสาท หรือกระดูกคอเสื่อมจนลามมาปวดที่สะบักหลัง

  • มีอาการปวดหลัง หรือกล้ามเนื้อหลังอักเสบจนทำให้ส่งผลถึงสะบัก


การเกิดอุบัติเหตุ

  • การบาดเจ็บระหว่างออกกำลังกาย หรือมีการเล่นกีฬาผิดท่า

  • ได้รับอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อคอ สะบัก ไหล่ หรือหลัง ซึ่งแต่ละส่วนมีความเชื่อมโยงกัน

อาการปวดสะบัก

ถึงแม้จะเรียกว่า “อาการปวดสะบัก” แต่แท้ที่จริงแล้ว อาการปวดสะบักมีได้หลากหลายรูปแบบ และหลายบริเวณ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีระดับความอันตรายที่แตกต่างกันออกไปด้วย โดยมีการแบ่งลักษณะอาการออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

อาการปวดหลัง ปวดสะบัก

อาการปวดหลัง หรือปวดสะบักของแต่ละคน อาจไม่ได้เกิดขึ้นในจุดเดียวกัน ซึ่งหากคุณมีแค่อาการปวดหลัง หรือปวดสะบักแบบปกติ ก็อาจทำให้ระดับความรุนแรงไม่อันตรายมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันการพัฒนาจนกลายไปเป็นแบบรุนแรง โดยลักษณะที่มักพบได้ ได้แก่…

  • อาการปวดเมื่อย ล้า หรือตึงกล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างสะบักทั้ง 2 ข้าง

การปวดกล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างสะบักทั้งสองข้าง อาจมาจากการที่กล้ามเนื้อ Rhomboid (กล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงสะบักให้สามารถดึงสะบักเข้ากลางแนวลำตัว), กล้ามเนื้อ Serratus Posterior Superior (กล้ามเนื้อมัดลึกที่หลังส่วนล่าง) และกล้ามเนื้อ Longissimus Thoracis (กล้ามเนื้อที่มีความยาวเกือบตลอดแนวหลัง)ถูกใช้งานมากจนเกินไป

เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้มีการเกร็งตัว จนเกิดปม Trigger point ที่ทำให้สารอาหารหรือออกซิเจนต่างๆถูกลำเลียงไปอย่างติดขัด จึงทำให้เกิดอาการปวด เมื่อยล้า หรือตึงกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งของการเกิด “ออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดสะบักเพียงอย่างเดียว

อาการปวดสะบักซ้าย หรือปวดสะบักขวาเพียงอย่างเดียว มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “อาการสะบักจม” จะมีอาการปวดแบบเสียดๆ ลึกๆ เจ็บแปล็บ รู้สึกขัดๆ ซึ่งมาจากการที่กล้ามเนื้อสะบักเกิดการเกร็งตัวมากจนอักเสบ และมีพังผืดมายึดเกาะ จนทำให้การลำเลียงสารอาหารต่างๆไปยังเนื้อเยื่อบริเวณสะบักไม่สะดวก


อาการปวดสะบักที่ลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ไหล่ แขน

อาการปวดสะบักที่ลามไปยังส่วนอื่นของร่างกาย มักมีระดับอาการที่ค่อนข้างอันตราย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ และควรพยายามเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาการจะมีดังต่อไปนี้

  • การปวดสะบักร่วมกับการปวดคอบ่าไหล่

หากคุณสังเกตตนเอง แล้วพบว่า มีอาการปวดตึงสะบัก ร่วมกับอาการปวดคอ ปวดบ่า หรือไหล่ เป็นระยะเวลานาน ไม่เคยเข้ารับการรักษามาก่อน นั่นอาจสันนิษฐานได้ว่า อาจมีภาวะออฟฟิศซินโดรม กระดูกคอเสื่อม มีการเคลื่อนทับกันของเส้นประสาท หรือเกิดพังผืดลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียงได้

  • ปวดสะบักจนรู้สึกร้าวลงแขน มีอาการชามือและนิ้วมือร่วมด้วย

การที่ปวดสะบักจนเริ่มมีอาการร้าวหรือชาที่แขน มือ หรือนิ้วมือ มักมาจากการที่ใช้งานกล้ามเนื้อสะบักหลังมากจนเกินไป ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งตัว มีพังผืดมาเกาะ ส่งผลให้เส้นประสาทมีการทำงานที่ผิดแปลกไป เนื่องจากโดนรบกวนนั่นเอง

  • อาการปวดสะบักจนหายใจได้ไม่สุด

ผู้ที่มีอาการปวดสะบัก จนรู้สึกว่าตนเองหายใจได้ไม่สุด ถึงแม้ว่าจะพยายามหายใจเข้า-ออกแล้ว ก็ยังรู้สึกเหมือนเสียดแทงบริเวณสะบักอยู่ อาการเหล่านี้อาจมาจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหน้าอกส่วนหลังที่เชื่อมติดกับสะบัก ทำให้ไม่สามารถหดหรือขยายตัวได้เต็มที่

อีกทั้งในบางกรณีอาจมีการปวดสะบัก ตึงไหล่ และหน้าอกร่วมด้วย เพราะมีพังผืดไปเกาะที่บริเวณกล้ามเนื้อหน้าอกด้านหน้านั่นเอง

  • การปวดสะบักร่วมกับการปวดหลัง

บางคนอาจมีอาการปวดตั้งแต่สะบัก ตึงไปจนถึงแนวกลางหลัง หรือปวดหลังส่วนล่าง เพราะกล้ามเนื้อ Longissimus Thoracic เป็นกล้ามเนื้อยาว หากมีการเกร็งตัวขึ้นเพียงแค่ปวดข้างหลังจุดเดียว แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่เข้ารับการรักษา ก็จะทำให้อาการลามมายังส่วนอื่นๆได้




วิธีบรรเทาอาการปวดสะบัก

ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะการปวดสะบักและหลัง สามารถเกิดขึ้นได้ และยังพอมีวิธีช่วยบรรเทาอาการปวดตึง หรือเกร็งกล้ามเนื้อได้อยู่ ดังนี้


การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อสรีระร่างกาย

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สภาพแวดล้อมก็เป็นปัจจัยที่อยู่รอบๆตัวเรา โดยเฉพาะในการทำงาน เรามักจะใช้ระยะเวลาอยู่บริเวณนั้นค่อนข้างนาน จึงทำให้สภาพแวดล้อมมีผลอย่างมาก ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของเราได้ โดยทำสิ่งเหล่านี้

  • เลือกเก้าอี้ทำงานที่มีรูปร่างและฟังก์ชันรองรับสรีระร่างกายของเรา มีการซัพพอร์ตหลัง เพื่อทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดอาการปวดหลัง หรือออฟฟิศซินโดรม

  • จัดตั้งระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้มีความสัมพันธ์กัน เพื่อเวลาทำงานจะได้ไม่เกิดอาการปวดคอ เกร็งสะบัก บ่า ไหล่

  • เพิ่มแสงสว่างให้เพียงพอ เพื่อลดการก้มหรือจ้องหน้าจอในระยะใกล้ๆ

  • ในส่วนของการนอนหลับ ที่นอนควรไม่นิ่มจนเกินไป ต้องสามารถรองรับสรีระได้พอดี ความสูงของหมอนต้องไม่ทำให้ศีรษะกดลงหรือเงยขึ้นมากเกินไป ห้องควรมืดเพื่อพร้อมสำหรับการนอนหลับสนิท

การปรับพฤติกรรม

หากพฤติกรรมของเรามีการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้หลายๆสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราสามารถสังเกตตนเองถึงพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และปรับแก้เพื่อบรรเทาอาการได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักมากจนเกินไป หรือการยกของหนักๆในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง

  • หมั่นทำท่าบริหารกล้ามเนื้อสะบักและหลังเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง เพิ่มความยืดหยุ่น

  • ไม่เคลื่อนไหวท่าเดิมซ้ำๆ หรือนั่งนานจนเกินไป

  • มีการจัดตารางแบ่งเวลาพัก เพื่อให้กล้ามเนื้อไม่ทำงานหนักจนเกินไป และลดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ

  • หากิจกรรมอื่นๆที่เป็นผลดีต่อร่างกายมาทำ เช่น การออกกำลังกาย การนวดผ่อนคลาย การเล่นโยคะ เพื่อคลายเส้นส่วนต่างๆที่ตึง เป็นต้น

  • ปรับท่าทางการนั่ง และการยืนให้เหมาะสม ไม่ยื่นคอออกมามากจนเกินไป ไม่หลังค่อม งอไหล่

  • เล่นกีฬาอย่างระมัดระวัง ไม่หักโหม และพยายามไม่เล่นกีฬาผิดท่า

การทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดเป็นหนึ่งในศาสตร์ที่ให้ผลการรักษาที่ดีมาก โดยทั่วไป อย่างทางสรีรารัก คลินิกกายภาพบำบัด ก็จะมีการดูแลผู้รับบริการด้วยนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ที่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง โดยนักกายภาพบำบัดจะฟื้นฟูคุณโดยการให้คำแนะนำถึงลักษณะท่าทางที่เหมาะสม ช่วยฝึกสอนคุณเกี่ยวกับวิธีการเหยียดกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง เพื่อให้คุณสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้

อีกทั้งในแง่ของการรักษา จะมีการนำอุปกรณ์เทคโนโลยี ที่เป็นเครื่องมือในการบรรเทาอาการปวด และช่วยเหลือทางการกายภาพบำบัดเข้ามาใช้ ยกตัวอย่างเช่น


1. เครื่องกำเนิดคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound)

เครื่องกำเนิดคลื่นเหนือเสียง (Ultrasound) คือ เครื่องที่มีการปล่อยคลื่นเสียงสั่นสะเทือนความถี่สูงกว่า 20,000 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นพลังงานความร้อนที่สามารถผ่านเนื้อเยื่อลงไปได้ลึกถึง 2-5 เซนติเมตร ทำให้ผู้เข้ารับบริการรับรู้ได้ถึงความรู้สึกอุ่น ร่างกายมีการไหลเวียนเลือดที่ดีขึ้น อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อลดลง และอัตราการซ่อมแซมเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น


2. เครื่องคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy)

เครื่องคลื่นกระแทก (Shockwave Therapy) เป็นคลื่นกระแทกที่เป็นคลื่นเสียงความถี่ต่ำที่มีแรงดันสูง สามารถลงลึกถึงเนื้อเยื่อได้มากกว่า 3.5 เซนติเมตร ช่วยในการกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ บรรเทาอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อและพังผืดต่างๆ มีอัตราการเกิดโรคซ้ำน้อยกว่าวิธีอื่นๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องรักษาโรคกลุ่มกล้ามเนื้อและพังผืด หรือ เส้นเอ็นอักเสบ เป็นต้น


สรุป

อาการปวดสะบักและปวดหลัง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน การเกิดอุบัติเหตุที่กระทบบริเวณนั้นๆ การเกิดอาการบาดเจ็บ อักเสบ หรือปวดเกร็งบริเวณอื่นๆมาก่อน และไม่ได้รับการรักษา จนทำให้ระดับความรุนแรงของอาการ ถูกพัฒนาให้ลามไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการปวดสะบัก ปวดหลังขึ้น หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรมมาก่อน กระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาท หรือมีการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้นอย่างหนักโดยไม่หยุดพัก ก็สามารถมีอาการเหล่านี้ได้

การทำกายภาพบำบัดปวดสะบัก ปวดหลัง หรือกายภาพบำบัดออฟฟิศซินโดรม จะช่วยบรรเทาอาการปวดเกร็งของที่มีอยู่ให้ลดลง ฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บ ให้สามารถเกิดการซ่อมแซมเนื้อเยื่อได้ โดยมีการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการรักษา ซึ่งสามารถช่วยลดพังผืด ลดการอักเสบ กระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้ อีกทั้งนักกายภาพบำบัดจะช่วยสอนเทคนิคการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การปรับพฤติกรรมท่าทางที่เหมาะสมให้กับคุณอีกด้วย

หากคุณสนใจเข้ารับการรักษาอย่างตรงจุด กับนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญของทางสรีรารัก คลินิกกายภาพบำบัด สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 096-515-4692 หรือ Line : @sarirarak

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page