top of page

ปวดคอ เส้นคอตึง นอนตกหมอนขยับไม่ได้ แก้ยังไง บรรเทาด้วยตนเองได้ไหม?



“จู่ๆก็รู้สึกปวดคอด้านซ้าย เส้นคอตึงๆ ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร?” “เมื่อคืนนอนตกหมอนขยับคอไม่ได้เลย ทำยังไงดี?” “นั่งทำงานจนเมื่อยคอ แต่ก็ยังต้องทำงานต่อไป” และอีกสารพัดปัญหาที่เชื่อว่า หลายๆคน คงเคยมีประสบการณ์เหล่านี้อยู่บ้างเช่นกัน


“อาการปวดคอ” หรือปวดต้นคอ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย หากเรามีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม และหลายๆครั้งมักถูกมองว่า อาการเหล่านี้ สามารถหายเองได้ ไม่เป็นไร ไม่รุนแรง ไม่ต้องรักษาก็ได้ แต่ความจริงแล้ว อาจไม่ได้เป็นแบบนั้นทุกเคสเสมอไป บางครั้งอาจเป็นกลายเป็น ออฟฟิศซินโดรม ก็ได้หากไม่ดูแลรักษาร่างกายให้ดี

บทความนี้น้องสรีจะมาอธิบายให้ทุกคนได้เข้าใจว่า อาการปวดต้นคอ นอนตกหมอนปวดคอ ปวดเส้นเอ็นคอ แท้จริงแล้วเกิดจากสาเหตุอะไร? อาการสามารถรุนแรงได้แค่ไหน? วิธีรักษา หรือวิธีแก้ปวดต้นคอท้ายทอยเบื้องต้นง่ายๆด้วยตนเองมีไหม? มาดูไปพร้อมๆกันได้เลย


สาเหตุของ อาการปวดต้นคอ

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดต้นคอท้ายทอย ปวดหลังคอ และอาการปวดคออื่นๆที่เกิดขึ้น มีด้วยกันหลากหลายปัจจัย ดังนี้


ช่วงวัยและอายุ

อาการปวดต้นคอท้ายทอย มักพบได้ในกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ไปจนถึงวัยผู้สูงอายุ เนื่องจากวัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่มีการทุ่มเททำงาน ทำให้อาจไม่ได้ใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากนัก และมีการใช้งานร่างกายในการทำงาน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้สามารถพบได้บ่อยในกลุ่มนี้

ส่วนของวัยผู้สูงอายุ ที่พบได้บ่อย เนื่องจากเป็นวัยที่ร่างกายเกิดความเสื่อมตามอายุเยอะขึ้น จนทำให้เกิดโรคต่างๆขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะกดทับเส้นประสาท หรือเกิดโรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม เป็นต้น


การประกอบอาชีพ

การเลือกประกอบอาชีพ เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ เนื่องจากหลายๆครั้ง ผู้ที่มีอาการปวดอาจจะรู้ตัวว่าเกิดความผิดปกติกับร่างกายขึ้น แต่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เนื่องจากอาชีพหรืองานที่ทำอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้อาการหายช้า หรือมีโอกาสเป็นอาการเรื้อรังยาวนาน


โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงในแง่ของการประกอบอาชีพ มักจะเป็นอาชีพที่มีความจำเป็นต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ กราฟิกดีไซน์ ฟรีแลนซ์ นักเขียน เป็นต้น


พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน

ปัจจัยนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากไม่แพ้ส่วนอื่นๆ เนื่องจากหลายๆครั้งเราอาจมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัว และตัวเราเองก็อาจจะไม่ได้ใส่ใจมากนัก เช่น การเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการยืดเส้นสาย หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย อย่างการนั่ง การนอน การทำกิจกรรมบางอย่างที่มีการก้มคอ เงยคอ หรือหันศีรษะบ่อยๆทั้งวัน ก็จะทำให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน


อีกส่วนหนึ่งที่หลายๆคนอาจยังไม่รู้ คือ การออกกำลังกาย ในความเป็นจริงแล้ว การออกกำลังกายเป็นเรื่องที่ดี เพียงแต่หลายๆครั้ง มือใหม่ที่เพิ่งเริ่มฝึก หรือผู้เล่นที่มีความชำนาญแล้ว อาจออกกำลังกายผิดท่า หรือเปลี่ยนท่ากระทันหัน ก็จะทำให้สรีระร่างกายเกิดการบาดเจ็บได้ และการใช้งานกล้ามเนื้อคออย่างไม่ถูกต้อง หรือหนักจนเกินไป ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดคอขึ้นได้เช่นกัน


การอักเสบ หรือ การติดเชื้อ

แง่ของสุขภาพ การเกิดการอักเสบ หรือการติดเชื้อ ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดคอได้เช่นกัน เนื่องจากอวัยวะภายในร่างกายหลายๆระบบมีความสัมพันธ์กัน โดยผู้ที่มักจะมีอาการปวดคอเกิดขึ้น เช่น ผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์ เกาต์ คนที่ติดเชื้อไวรัสที่คอ กล้ามเนื้อบริเวณข้อต่อเกิดการอักเสบ หรือมีการติดเชื้อที่กระดูกสันหลังเกิดขึ้น เป็นต้น


ความเครียด และการพักผ่อน

หลายๆครั้งเราอาจจะมีปัญหาชีวิต หรือทุ่มเทกับการทำงานมากจนเกินไป ทำให้มีความเครียดสูง และไม่ได้รับการผ่อนคลาย อีกทั้งก็อาจมีปัญหาอื่นตามมา ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลให้สุขภาพมีแนวโน้มแย่ลงอีกด้วย


ประวัติการเกิดอุบัติเหตุบริเวณคอ

บุคคลที่ได้รับอุบัติเหตุหรือเกิดการบาดเจ็บที่ส่งผลต่อบริเวณคอ ก็มีผลที่จะทำให้เกิดอาการปวดคอต่างๆตามมาด้วยเช่นกัน หากมีอาการปวดมาก เป็นระยะเวลานาน ไม่ยอมหายสักที แนะนำว่าควรเข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจเช็คอาการที่เกิดขึ้น


นอนตกหมอนปวดคอ

หลายๆคนที่มีอาการปวดต้นคอ เส้นคอตึงมาก บางครั้งอาจเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันง่ายๆ อย่างเช่นเรื่องของการนอน ที่หลายๆคนอาจไม่ทันได้สังเกต หรือมองข้ามไป


หากใครที่มีอาการปวดคอเหมือนตกหมอน ขยับคอไม่ได้ ให้คุณลองกลับไปสำรวจหมอนของตนเองว่า หมอนที่คุณใช้นอนเป็นประจำ มีระดับความหนาที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะนั่นอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการท่านอนที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง


อาการปวดต้นคอ

ลักษณะอาการที่มักจะเกิดขึ้น มีดังต่อไปนี้

  1. ในระดับที่ยังไม่ค่อยรุนแรง บุคคลนั้นจะมีอาการปวดคอบ่าไหล่ปวดหัว และบางครั้งอาจมีการปวดสะบักด้วย

  2. เกิดอาการปวดคอ และมีการชาตามนิ้วมือ หรือแขนร่วมด้วย รวมไปจนถึงหากสังเกตได้ว่าตนเองมีการรับความรู้สึกที่เปลี่ยนไปจากเดิม แสดงว่าระยะอาการเริ่มรุนแรงขึ้นแล้ว

  3. เส้นคอตึงมาก ทำให้หันศีรษะหรือขยับคอทำท่าทางต่างๆได้น้อยลง

  4. ปวดตึงท้ายทอย กล้ามเนื้อต้นคอเกร็ง กดหรือหันคอแล้วเจ็บ

  5. รูปร่างของคอมีความผิดปกติ

  6. มีอาการปวดหัวปวดคอ จนไข้ขึ้นสูง หรือมีอาการอ่อนแรงร่วมด้วย

  7. ปวดต้นคอท้ายทอย จนมีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การเคลื่อนไหว การทำงาน

ลักษณะอาการเหล่านี้ เป็นอาการที่มีการพัฒนาระยะจนมีความรุนแรงมากขึ้นได้ จึงแนะนำว่า หากเริ่มมีอาการปวดคอ หรือปวดเส้นเอ็นคอแล้ว ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ และรีบหาวิธีแก้ไขจึงจะดีที่สุด



วิธีแก้ปวดคอ เบื้องต้น


ถึงแม้ว่าเราอาจจะรักษาอาการปวดคอในระยะที่เริ่มรุนแรงขึ้นด้วยตนเองไม่ได้ แต่เรายังสามารถบรรเทาอาการปวดคอเบื้องต้นด้วยตนเองได้ง่ายๆ โดยไม่เกิดอันตราย ดังนี้

  1. บริหารคออย่างถูกวิธีเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง

  2. เมื่อมีอาการปวด สามารถบรรเทาด้วยการประคบร้อน หรือประคบเย็นประมาณ 15 - 20 นาที บริเวณที่รู้สึกปวด

  3. รับประทานยาแก้ปวด และสังเกตดูอาการตนเองในเบื้องต้น

  4. พยายามพักผ่อนเยอะๆ และใช้หมอนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

การรักษาอาการปวดต้นคอ


โดยปกติแล้ว วิธีรักษาอาการปวดต้นคอ หรือวิธีแก้ปวดต้นคอท้ายทอย จะสามารถรักษาได้ในแต่ละรูปแบบ ดังนี้

1. การรักษาอาการปวดต้นคอด้วยยา

วิธีนี้จะเป็นการที่คุณเข้าพบแพทย์เพื่อทำการประเมินและวินิจฉัยระดับความรุนแรงของอาการ จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาและบรรเทาอาการ ด้วยการให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือฉีดยาสเตียรอยด์ หรือยาชาไปที่บริเวณใกล้รากประสาท หรือกล้ามเนื้อคอ


2. การรักษาด้วยการกายภาพบำบัด

วิธีนี้จะเป็นการนำศาสตร์กายภาพบำบัดเข้ามาช่วยในการรักษา ซึ่งคุณจะได้รับการดูแลอย่างดีจากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ที่จะมาสอนคุณในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดระเบียบท่าทางที่ถูกต้อง การออกกำลังกายบริเวณคอ

อีกทั้งยังมีการนำอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆเข้ามาช่วยในการบรรเทาอาการปวดคอ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยความร้อน ความเย็น หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้า และการใช้เครื่องดึงคอ หรือการฝังเข็มเฉพาะจุดเพื่อช่วยทำให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังบริเวณคอของผู้เข้ารับบริการกว้างขึ้น ยืดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นต่างๆที่แข็งเกร็ง และช่วยลดการกดทับของเส้นประสาทได้


3. การรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาอาการปวดคอ หรือปวดเส้นเอ็นคอโดยวิธีการผ่าตัด จะทำในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษามีระดับอาการที่รุนแรง หรือมีความจำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่น การเกิดอาการปวดเส้นเอ็นคอขึ้นหัวเรื้อรัง กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท เป็นต้น


ปวดคอทำไงดี? หากคุณมีอาการปวดคอนอนตกหมอน หรือมีอาการปวดท้ายทอยต้นคอแบบไม่รุนแรงอยู่หล่ะก็ “การบริหารคอ” สามารถช่วยแก้ปวดคอได้ง่ายๆ


โดยวิธีแก้ปวดต้นคอ มีท่าบริหารคอหลากหลายท่าดีๆ ที่ทางสรีรารักนำมาฝากทุกๆคน ดังนี้

  • ท่าที่ 1

ในท่าแรก จะเป็นการยืดกล้ามเนื้อเบาๆ ให้คุณก้มหน้าลงโดยการที่คางชิดกับหน้าอกไว้ จากนั้นค้างไว้ 10 วินาที และเปลี่ยนไปเงยหน้าขึ้น ค้างไว้ 10 วินาทีเช่นเดียวกัน และต่อมา ให้คุณเอียงศีรษะไปทางด้านซ้าย และด้านขวา ข้างละ 10 วินาที เป็นอันเสร็จสิ้น


  • ท่าที่ 2

ท่าที่ 2 นี้ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณนั่งหลังตรง ใบหน้ามองตรงไปข้างหน้า จากนั้นค่อยๆหันไปทางด้านซ้ายแบบช้าๆ หันกลับมามองตรง และค่อยๆหันไปทางขวาช้าๆ

  • ท่าที่ 3

ท่าที่ 3 เป็นการออกกำลังกายคอ ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น โดยการเริ่มจาก ให้คุณนำมือข้างซ้าย ดันศีรษะไปทางด้านขวา ในขณะเดียวกัน ให้คุณพยายามเกร็งกล้ามเนื้อคอต้านแรงดันนั้นเอาไว้ เมื่อทำเสร็จสิ้นไปสักครู่หนึ่ง ให้คุณสลับข้างกัน โดยนำมือข้างขวา ดันศีรษะไปทางซ้าย และใช้แรงเกร็งกล้ามเนื้อคอต้านแรงนั้นเอาไว้


  • ท่าที่ 4

ท่าต่อมา มีความคล้ายคลึงกับท่าที่ 3 คือ ให้คุณนำมือแตะหน้าผากและดันไปทางด้านหลัง ในขณะเดียวกันให้คุณเกร็งคอต้านแรงนั้นไว้ และเมื่อทำไปสักครู่หนึ่ง ให้คุณเปลี่ยนทิศทาง โดยการนำมือไปไว้ที่บริเวณท้ายทอย จากนั้นออกแรงดันไปข้างหน้า พร้อมๆกับการเกร็งคอเพื่อต้านแรงนั้นไว้ เป็นอันเสร็จสิ้น


  • ท่าที่ 5

ท่านี้ ใครที่ชอบมีอาการปวดต้นคอด้านซ้าย หรือปวดคอข้างขวา ไม่ควรพลาด โดยเริ่มง่ายๆจากการที่คุณนั่งตัวตรง หลังตรง นำมือซ้ายวางไว้ที่ใต้ต้นขาซ้าย เพื่อทับเอาไว้ จากนั้นให้เอียงศีรษะไปทางด้านขวาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณจะรู้สึกตึงช่วงบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านซ้าย และต่อมา เพื่อให้ยืดกล้ามเนื้อจนรู้สึกตึงมากขึ้น ให้คุณนำมือขวาที่ว่างอยู่ พาดไว้บนศีรษะ โดยให้มือจับที่บริเวณขมับด้านซ้ายพอดี และกดลงไปเพิ่ม ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที จึงค่อยๆดึงศีรษะกลับมาหน้าตรงเช่นเดิม

เมื่อทำการยืดกล้ามเนื้อคอด้านซ้ายเรียบร้อยแล้ว ให้คุณเปลี่ยนข้างมายืดกล้ามเนื้อด้านขวา โดยทำเหมือนเดิม คือ นำมือขวาวางใต้ต้นขาด้านขวาแล้วนั่งทับเอาไว้ จากนั้นพยายามเอนคอมาทางด้านซ้ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนำมือข้างซ้ายเป็นตัวช่วยในการกดลง เพื่อให้รู้สึกตึงมากขึ้น จากนั้นค้างไว้ประมาณ 10 วินาที เป็นอันเสร็จสิ้น


  • ท่าที่ 6

ส่วนท่าที่ 6 นี้ เป็นท่าที่คนชอบปวดคอด้านหลัง หรือ ปวดต้นคอด้านหลังท้ายทอยบ่อยๆควรใช้ คือ ให้คุณนั่งหลังตรง มองไปข้างหน้า จากนั้นก้มศีรษะลงให้คางติดกับบริเวณหน้าอก ต่อมาให้คุณนำมือทั้งสองข้างประสานกันเอาไว้ และนำไปวางไว้ที่บริเวณท้ายทอย เพื่อช่วยเป็นแรงกดให้รู้สึกตึง ทำค้างไว้ประมาณ 10 วินาที และนำมือออก เงยศีรษะขึ้นจนสุด คุณจะรู้สึกได้ถึงความตึงของคอด้านหน้า ทำค้างไว้อีก 10 วินาที ทำซ้ำอีกครั้ง ประมาณ 10 เซต

คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับอาการปวดต้นคอ

ทางสรีรารัก คลินิกกายภาพบำบัด ได้ทำการรวบรวมคำถามยอดฮิตที่หลายๆคนมักสงสัย มาตอบคำถามให้สำหรับคุณ จะมีคำถามอะไรบ้าง ไปดูกันเลย


นอนตกหมอนปวดคอกี่วันหาย

“นอนตกหมอนปวดคอกี่วันหาย?”โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่นอนแล้วปวดคอ ไม่สามารถเคลื่อนไหวหันศีรษะซ้ายขวาได้อย่างสะดวก มักจะเป็นประมาณ 2 - 3 วัน ถึงแม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน ก็อาจทำให้การใช้ชีวิตหรือการทำงานในวันนั้นๆมีความยากลำบาก


นอนยังไงไม่ให้ปวดคอ

คำถามนี้หลายๆคนมีความสงสัยเป็นอย่างมาก ว่าเราควรนอนยังไงไม่ให้ปวดคอดี วิธีที่ดีมีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับแต่ละคนอยากเลือกใช้ ได้แก่


1. เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสม

คุณควรมีการสังเกตพฤติกรรม หรือท่าทางการนอนของตนเองว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ โดยท่าทางการนอนที่เหมาะสม คือ ควรจัดท่าทางให้ศีรษะและคอตรงอยู่ในแนวเดียวกันกับร่างกาย ไม่ว่าจะตอนที่นอนหงายหรือนอนตะแคงข้างก็ตาม

2. เปลี่ยนหมอนและที่นอน

หมอนและที่นอน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ หมอนควรจะมีลักษณะความหนาที่เหมาะสม ขนาดสามารถรองรับศีรษะได้อย่างดี ทำให้เวลาหนุนหมอน ระดับองศาของคางไม่ก้มหรือเงยมากจนเกินไป

ที่นอนไม่ควรมีความนุ่มมากจนเกินไป เพราะเวลามีการขยับตัว อาจทำให้กระดูกสันหลังทั้งคอและบริเวณ เอว สะโพก เกิดการกระเพื่อมได้


3. บริหารคอเพิ่มความแข็งแรงเป็นประจำ

การใส่ใจบริหารคอเป็นประจำ จะทำให้คอมีความแข็งแรง ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการปวดคอ หรือบาดเจ็บได้ง่าย


วิธีแก้นอนตกหมอน

หลายๆคนมักมีปัญหากับการที่ตกหมอนขยับคอไม่ได้ หรือเมื่อยคอ ปวดคอขณะที่ตื่นขึ้นมา ซึ่งวิธีแก้นอนตกหมอนอย่างง่ายๆมีดังนี้


  • ประคบด้วยความร้อน

ให้คุณนำผ้าชุบน้ำอุ่นๆ มาประคบบริเวณที่มีอาการปวด ประมาณ 15 - 20 นาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นได้

  • ยืดกล้ามเนื้อบริเวณข้างที่มีการหดรั้ง

กรณีที่รู้สึกปวดตึงด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการปวดคอด้านขวา หรือการปวดคอข้างซ้าย ให้คุณใช้มือดึงศีรษะยืดกล้ามเนื้อด้านที่ปวดเมื่อยให้รู้สึกตึง ค้างไว้ประมาณ 10 - 15 วินาที และปล่อยมือลง จากนั้นทำซ้ำอีกหลายครั้ง จนเริ่มรู้สึกว่าอาการทุเลาลง

  • ใช้เทคนิคการนวดอย่างเบามือ

การนวดคอ คือ ให้คุณนำมือบีบลงไปที่บริเวณกล้ามเนื้อที่คุณรู้สึกตึงๆ โดยใช้แรงพอประมาณ จากนั้นบีบและคลายเป็นจังหวะ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรยืดกล้ามเนื้อจนรู้สึกเจ็บ ไม่ควรให้ผู้อื่นดัดคอเด็ดขาด และไม่จำเป็นต้องเข้ารับการนวดแผนไทย เนื่องจากอาจทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อยิ่งขึ้นได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำ และอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด จะรักษาได้ตรงจุดมากกว่า

  • หลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อในบริเวณนั้น

เมื่อคุณมีอาการปวดคอ ให้หลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณนั้น หรือการหันศีรษะไปมาบ่อยๆ เพื่อลดการอักเสบและให้กล้ามเนื้อได้พักการใช้งาน


สรุป

“อาการปวดคอ” เป็นอาการที่ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก สามารถหายได้ง่าย แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ จนอาการมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเกิดการเรื้อรัง ก็อาจมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหรือภาวะต่างๆตามมา ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันในอนาคตได้

สรีรารัก คลินิกกายภาพบำบัด เราให้ความใส่ใจดูแลเรื่องของอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง และเน้นการรักษาที่ตรงจุด เพื่อทำให้คุณกลับมามีอิสระในการเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง


หากสนใจเข้ารับบริการ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 096-515-4692

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page