top of page

ปวดแบบไหน ? ควรประคบร้อน หรือ เย็น


การประคบร้อน – เย็น เป็นการปฐมพยาบาล กายภาพบำบัดเบื้องต้นวิธีหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในบริเวณต่างๆ แต่หลายคนไม่ทราบว่าการประคบร้อน หรือประคบเย็นนั้นใช้ในสถานการณ์ หรืออาการที่แตกต่างกัน จึงนำไปสู่การใช้ที่ผิดวิธี ส่งผลให้อาการเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น ทีนี้เรามาดูกันว่าการประคบร้อน – เย็นต้องใช้เมื่อไหร่ และอย่างไร กันดีกว่า

ข้อแตกต่างระหว่าง ประคบร้อน VS ประคบเย็น

การประคบเย็น (Cold Pack)

คือ การใช้ความเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดบวมที่เกิดจากอาการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน เพราะความเย็น จะช่วยทำให้เส้นเลือดหดตัว และเลือดออกน้อยลง หากมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บ ควรประคบเย็นทันที ภายใน 24-48 ชั่วโมง ให้ประคบวันละ 2-3 ครั้ง นาน 20-30 นาที อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเพิ่งมีอาการใหม่ๆ เป็นต้น

อุปกรณ์ในการทำประคบเย็น อาจใช้แผ่นเจลประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูปไปแช่ในตู้เย็นหรือถังน้ำแข็ง หรือทำถุงน้ำแข็งใช้เอง ด้วยการใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะแล้วเติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งอย่างละครึ่งลงไปในถุง โดยต้องระวังไม่ให้เย็นจนเกินไป โดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทนก็ได้ โดยแช่นานครั้งละประมาณ 15-20 นาที

การประคบร้อน (Hot Pack)

คือ การใช้ความร้อนในการกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตให้ดีขึ้น ช่วยลดอาการบาดเจ็บ ปวดเกร็งตามกล้ามเนื้อ และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อให้ผ่อนคลายได้ดียิ่งขึ้น

การประคบร้อนจะเริ่มใช้หลังจากมีอาการปวดผ่านไปแล้วเกิน 48 ชั่วโมง ให้ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวด และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการที่ควรประคบร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ ปวดบ่า ปวดหลัง น่อง ปวดประจำเดือน เป็นต้น อาจใช้แผ่นเจลสำหรับประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูป ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนก็ได้ อุณหภูมิที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ ไม่ควรประคบนาน หรือถี่เกินไป และต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิด หรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น จะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่อการอักเสบน้อยลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง หรือร้อนที่บริเวณนั้นนั่นเอง

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page