“ขั้นตอนตรวจร่างกาย” แบบฉบับ นักกายภาพบำบัด
ขั้นตอนก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจประเมินและวินิจฉัยโรคจากนักกายภาพบำบัดเสียก่อน โดยขั้นตอนการตรวจประเมินร่างกายสำหรับโรคที่เกิดจากระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ มีขั้นตอนดังนี้
ซักประวัติ นักกายภาพต้องซักประวัติคนไข้เพื่อสอบถามถึงอาการปวด กิจวัตรประจำวัน เพื่อให้ทราบถึงท่าทางที่ผิด และหาสาเหตุถึงท่าทางที่ส่งผลทำให้เกิดอาการปวด และสอบถามประวัติการเจ็บป่วยในอดีต เช่น การประสบอุบัติเหตุ การผ่าตัดใส่เหล็กดามในร่างกาย และโรคประจำตัวของคนไข้ เพื่อใช้ในการพิจารณาข้อห้าม ข้อควรระวังในการใช้เครื่องกายภาพบำบัดต่อเนื่อง
วัดระดับความเจ็บปวดของอาการ นักกายภาพบำบัดต้องทราบด้วยว่า ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดในระดับใด และเจ็บปวดบริเวณไหนบ้าง โดยจะสามารถวัดระดับความเจ็บปวดได้ตั้งแต่ 0-10 ซึ่งสามารถแยกเป็นลำดับขั้นได้ดังนี้
0 คือ ไม่เจ็บปวดเลย
1-3 คือ ปวดนิดๆ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดหรือรู้สึกไม่สบายตัว แต่ก็ยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ติดขัด
4-6 คือ ปวดปานกลาง – ปวดรุนแรง ความเจ็บปวดจะทำให้ผู้ป่วยเริ่มสูญเสียสมาธิ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การนั่ง การยืน การเดิน หรือการนอน
7-9 คือ ปวดรุนแรงมาก ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมาก จนไม่สามารถออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆได้
10 คือ ปวดรุนแรงมากจนทนไม่ไหว ไม่สามารถเคลื่อนไหว หรือทำกิจกรรมใดๆได้เลย เช่น ปวดจนนอนไม่หลับ ก้มไม่ได้ ไม่สามารถเดินตัวตรงได้ เป็นต้น
ตรวจรีเฟล็ก (Reflex) เป็นการตรวจที่นักกายภาพใช้ค้อนยางเล็กๆ เคาะบริเวณเอ็นหัวเข่า (Patellar Tendon) เอ็นร้อยหวาย (Achilles Tendon) และบริเวณเอ็นกล้ามเนื้อไบเซ็ป (Biceps Tendon) เอ็นกล้ามเนื้อไตรเซ็ป (Triceps Tendon) และบริเวณส่วนปลายของแขน (Brachioradialis Tendon) โดยนักกายภาพจะใช้มือคลำบริเวณเอ็นที่กล่าวมาข้างต้น และใช้ค้อนยางเคาะลงไป ดูว่ามีการตอบสนองอย่างไร ถ้าเคาะไปแล้วมีการกระเด้งของเท้า ขา แขน มือ อย่างแรงก็เรียกว่า “มีรีเฟล็กซ์ไว” (Hyperreflexia) ถ้าไม่ตอบสนองเลย หรือตอบสนองเล็กน้อยก็เรียกว่า “Hyporeflexia”
ตรวจประเมินร่างกาย ซึ่งประกอบไปด้วย
การดู (Gait) เป็นการสังเกตความผิดปกติที่ตรวจพบได้จาก การยืน การเดิน และแนวกระดูกสันหลัง เป็นต้น
การคลำ นักกายภาพบำบัดจะใช้มือในการคลำหรือกดตรงบริเวณที่มีก้อนกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง บริเวณที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อและบริเวณโดยรอบ เพื่อประเมินการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
การตรวจการเคลื่อนไหว (ROM) นักกายภาพบำบัดจะใช้ Goniometer หรือ อุปกรณ์วัดมุม ตรวจการเคลื่อนไหว ทั้งการก้ม เงย เอียงซ้าย-ขวา และหมุนซ้าย-ขวา ว่าสามารถเคลื่อนไหวได้มากน้อยเพียงใด
การตรวจร่างกายพิเศษ (Special Tests) เป็นการตรวจร่างกายเฉพาะเจาะจงเพื่อวินิจฉัยโรค หรือเพื่อหาตำแหน่งพยาธิสภาพ (ความผิดปกติของร่างกาย) หรือเพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากพยาธิสภาพที่เกิดจากส่วนอื่นๆของร่างกาย
เมื่อนักกายภาพบำบัดตรวจประเมินร่างกายเรียบร้อยแล้ว ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยได้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการรักษามากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
ดังนั้นหากเกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อย่าปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะอาจต้องใช้เวลาในการรักษาที่นานขึ้น และค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นตามไปด้วย