top of page

กิจวัตรประจำวันที่เสี่ยงเป็นโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง !


ใครเคยมีอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดบ่า จนแทบขยับร่างกายไม่ได้บ้าง รู้หรือไม่ว่านี่เป็นสัญญาณเตือนของโรคกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (Myofascial Pain Syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับคนช่วงวัยทำงานมากที่สุด โดยสาเหตุส่วนหนึ่งของโรคเกิดจากกิจวัตรประจำวันและอิริยาบถต่างๆ เช่น ท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน ท่านอน ที่ผิดรูปแบบ และหากปล่อยไว้นาน ไม่รับการรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและอิริยาบถ ก็อาจนำไปสู่โรคร้ายแรง เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, โรคกระดูกสันหลังคต โค้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่รุนแรงขึ้นและทำให้อาการปวดมากขึ้น ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเองก่อนที่จะเกิดโรค ด้วยการปรับอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นท่านั่ง ท่ายืน ท่าเดิน และท่าอื่นๆ ให้ถูกต้องเหมาะสม

เดินอย่างไร ให้ถูกท่า

ทุกครั้งที่เดินให้สังเกตตัวเองเดินหลังค่อมหรือไม่ ถ้าคุณกำลังเดินหลังค่อมอยู่ ให้ยืดตัว เดินหลังตรงทันที ไม่ก้มคอ และไม่ห่อไหล่ พร้อมแกว่งแขนซ้ายขวาสลับกับการก้าวเท้าอย่างเป็นธรรมชาติ ที่สำคัญหากต้องเดินเยอะๆ ควรเลือกรองเท้าสำหรับวิ่งหรือเดินโดยเฉพาะ เพื่อรองรับการกระแทก และลดอาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นได้

นั่งอย่างไร ไม่ให้เป็นโรค

สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ ที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ การนั่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังและนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ ที่จะตามมา ดังนั้นการนั่งให้ถูกท่าจะช่วยลดอาการปวดหลังได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มตั้งแต่การปรับระดับโต๊ะเก้าอี้ทำงานให้เหมาะสมกับสรีระ โต๊ะมีลิ้นชักสำหรับวางคีย์บอร์ด เก้าอี้มีพนักพิง ท่านั่งที่ถูกต้องคือนั่งหลังตรงพิงพนักเก้าอี้ วางแขนบนที่วางแขน ระดับเก้าอี้ไม่สูงจนเกินไป สามารถวางเท้ากับพื้นได้

นอนอย่างไร ให้หลับสบาย

รู้หรือไม่ว่าการนอนผิดท่าก็ทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน ท่านอนที่ถูกต้องคือนอนหงายและใช้หมอนรองใต้เข่า เพื่อให้หลังแนบไปกับที่นอน หรือนอนตะแคงข้างแล้วมีหมอนข้างวางบริเวณเข่าเพื่อลดป้องกันอาการปวดเอวและสะโพก นอกจากท่านอนแล้ว ที่นอนและหมอนก็มีส่วนสำคัญ ที่นอนต้องไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป มีการยุบตัวน้อย และไม่ควรนอนหนุนหมอนสูงหรือหมอนที่นุ่มจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดคอได้

นั่งขับรถอย่างไร ให้ไม่บาดเจ็บ

ไม่ว่าจะขับรถราคาแพงแค่ไหน แต่หากนั่งขับไม่ถูกท่าก็ทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน ที่สำคัญยังเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เนื่องจากวิสัยทัศน์ในการขับขี่ไม่ดี ส่วนท่านั่งขับรถที่ถูกต้องคือ ปรับเบาะนั่งให้ตรงและเอนหลังเล็กน้อย ส่วนระยะห่างระหว่างตัวผู้ขับและพวงมาลัยควรอยู่ประมาณ 1 ช่วงแขน เท้าสามารถแตะคันเร่งและเบรคได้อย่างเต็มเท้า ส่วนหัวหมอนควรปรับให้อยู่กลางหลังศีรษะ เพื่อลดแรงกระแทกหากเกิดอุบัติเหตุ

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page