top of page

โรคข้อเข่าเสื่อม หนีไม่พ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา


โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคข้อที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนข้อต่อ การเปลี่ยนแปลงเกิดจากกระบวนการเสื่อมที่ไม่สามารถกลับสู่สภาพเดิมและอาจทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ เป็นต้นเหตุให้เกิดภาวะทุพพลภาพในผู้หญิงสูงอายุเป็นอันดับต้นๆ โดยพบได้ประมาณร้อยละ 10 ของประชากร ที่มีอายุเกิน 55 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • อายุที่มากขึ้น ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น

  • ผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์ ทำให้การรับส่งแรงของข้อเข่าเปลี่ยนแปลงไป

  • ผู้ที่เป็นโรคข้ออักเสบ ผลจากเยื่อบุข้ออักเสบทำให้เกิดการทำลายโครงสร้างของกระดูกอ่อน เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ทำให้เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น

  • ผู้ที่มีการใช้งานข้อเข่ามากเกินไป ทำให้แนวเข่าโก่งงอกว่าปกติ

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บของข้อ

  • ผู้ที่ออกกำลังกายประเภทที่มีความเสี่ยง เช่น มีการกระแทกรุนแรงและซ้ำๆ ที่ข้อต่อ

  • พันธุกรรม หากพบว่าบุคคลในครอบครัวเป็นข้อเข่าเสื่อมจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม

  • เริ่มจากมีอาการปวดบริเวณข้อเข่า เป็นๆ หายๆ เมื่อพักการใช้เข่าอาการปวดจะทุเลาลงและจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานของข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น หรือปวดตอนกลางคืนร่วมด้วย ในบางรายที่เป็นมากจะมีอาการปวดตลอดเวลา บริเวณข้อเข่าจะฝืด และติดขัดในขณะที่ใช้งาน

  • ข้อเข่ามีลักษณะผิดรูปไปจากปกติ เปลี่ยนรูปร่างไปจากเดิม เข่าบวมโต หรือขาอาจโก่งงอ และอาจมีเสียงกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหว

การดูแลรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

แนวทางการดูแลรักษาการวางแผนการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย ความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อม และโรคประจำตัวของผู้ป่วย ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะอาหาร โรคไต โดยมีแนวทางในการรักษา คือ

  • การรักษาโดยไม่ใช้ยา ได้แก่ การให้ความรู้เรื่องข้อเข่าเสื่อม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และความเจ็บปวด การออกกำลังและการบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ เช่น การใช้ไม้เท้า การเสริมรองเท้าเป็นลิ่มด้านนอก การใช้สนับเข่า เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงของข้อเข่า รวมทั้งช่วยลดอาการปวดข้อเข่า การลดน้ำหนัก เพื่อลดความเจ็บปวดและเพิ่มการใช้งานของเข่าในผู้สูงอายุ การใช้วิธีการอื่นๆ ได้แก่ เลเซอร์ การฝังเข็ม การใช้ความร้อน การใช้สนามแม่เหล็ก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแพทย์เฉพาะทางเป็นผู้พิจารณาการรักษา

  • การรักษาโดยยา แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้ยารับประทานตามอาการของโรค รวมถึงการใช้ยาทาเฉพาะประเภท

  • การรักษาแบบผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดข้อเข่าเทียมทั้งข้อ เฉพาะผู้ที่โรคข้อเข่าเสื่อมรุนแรง และข้อเข่าผิดรูปที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดจะเป็นการรักษาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อเข่า ช่วยลดอาการปวด การอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดร่วมกับการบริหารร่างกาย ซึ่งในการบริหารจะไม่เพียงบริหารในส่วนของกล้ามเนื้อเข่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะบริหารกล้ามเนื้อสะโพกร่วมด้วย เนื่องจากอาการปวดเข่าไม่ได้มาจากกล้ามเนื้อเข่าอ่อนแรงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากกล้ามเนื้อสะโพกที่อ่อนแรงด้วยเช่นกัน

ในส่วนของกระดูกข้อเข่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่าข้อเข่าเสื่อมอยู่ในระดับไหน หากมีการเสื่อมของข้อเข่าเข้าขั้นรุนแรง ก็จะต้องให้ทางแพทย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพราะฉะนั้นในการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดจะเป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่เป็นในระยะแรกๆ หรือมีการเสื่อมของข้อเข่าไม่มากนัก หากได้รับการรักษาด้วยวิธีทางกายภาพบำบัดตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยลดอาการปวด และย่นระยะเวลาการเสื่อมของข้อเข่าลงได้ ดังนั้นอย่านิ่งนอนใจกับอาการปวดเข่าเพียงเล็กน้อย เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคข้อเข่าเสื่อมได้

การป้องกันการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม

  • ควบคุม และลดน้ำหนักตัว

  • หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ต้องงอเข่ามากๆ เช่น การนั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ หรือนั่งยองๆ เนื่องจากจะเพิ่มแรงอัดภายในข้อเข่าและจะมีผลต่อกระดูกอ่อนข้อเข่า ไม่ควรใช้สุขาแบบส้วมซึมที่ต้องนั่งยอง ไม่ควรขึ้นลงบันไดโดยไม่จำเป็น

  • ควรบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อบริเวณรอบเข่า เช่น การเดินช้าๆ การปั่นจักรยาน หรือการออกกำลังกายในน้ำซึ่งจะดีมากสำหรับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นจะสามารถหลีกเลี่ยง หรือลดการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page