top of page

กระดูกสันหลังคด ในเด็ก


ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดในประเทศไทย พบมาก 2-3 % ของประชากร โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด 80 % ของผู้ป่วยไม่พบสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่ทราบ เช่น กระดูกสันหลังคดจากขาที่ยาวไม่เท่ากัน กระดูกสันหลังคดจากสมองพิการ หรือเกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เป็นต้น

จากสถิติของผู้ป่วยพบได้เท่ากันในเพศชายและเพศหญิง แต่เพศหญิงมักจะมีการคดงอของกระดูกมากกว่าเพศชาย และพบว่าผู้ป่วยช่วงอายุ 10-15 ปี 10 % ได้รับการถ่ายทอดมาจากกรรมพันธุ์ กระดูกคดเกิดจากภาวะกระดูกสันหลังโค้งงอไปทางด้านซ้ายหรือด้านขวาจนผิดปกติ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกระดูกสันหลังของคนเราจะโค้งงอไปด้านหน้าและหลังในระดับที่สมดุลกับร่างกาย เมื่อมองจากด้านข้างจะเป็นรูปตัว S แต่ถ้ามองจากด้านหลังจะเป็นแนวเส้นตรง แต่ผู้ป่วยที่มีอาการกระดูกสันหลังคดนั้น กระดูกสันหลังจะบิดหรือผิดรูปออกทางด้านข้าง การที่กระดูกสันหลังโค้งไปข้างใดข้างหนึ่ง ทำให้สะโพก เอว และไหล่ของผู้ป่วยไม่เท่ากัน

สังเกตกระดูกสันหลังคดในเด็ก

คุณพ่อ คุณแม่สามารถสำรวจลูกๆ ได้ง่ายๆ ว่ามีอาการกระดูกสันหลังคดหรือไม่ โดยให้สังเกตความสูงของระดับหัวไหล่ ความนูนของกระดูกสะบัก และระดับแนวกระดูกสะโพกของร่างกาย ซึ่งมักจะมีระดับสูง-ต่ำไม่เท่ากัน หรือทดสอบโดยการยืนให้เท้าชิดกันและให้ก้มไปด้านหน้า ใช้มือทั้ง 2 ข้างแตะให้ถึงพื้น จะเห็นความนูนของหลังไม่เท่ากัน ซึ่งหากมีอาการผิดปกติดังกล่าวให้รีบพบแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด เพราะหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้กลับมาใกล้เคียงภาวะปกติได้ การทดสอบนี้สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กอายุ 2-3 ขวบ สำหรับเด็กอ่อนสามารถให้คุณหมอตรวจได้ตั้งแต่เกิด เนื่องจากทารกบางคนเกิดมาพร้อมความผิดปกติเลย ยังไงคุณพ่อคุณแม่ก็ลองหมั่นสังเกตบริเวณหลังลูกบ้างก็ดี เพราะการได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ยังไงก็ดีกว่ามารักษาตอนที่เป็นมากแล้ว

อาการของโรคกระดูกสันหลังคด

สำหรับอาการของผู้ป่วย คือ มีแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง ระดับหัวไหล่ 2 ข้างไม่เท่ากัน ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณ หลังเอว คอ เรื้อรัง เนื่องจากกล้ามเนื้อในแต่ละส่วนแบกรับน้ำหนักไม่เท่ากัน รวมทั้งมีอาการเหนื่อยง่าย เนื่องจากกระดูกหน้าอกไปกดทับปอดมากกว่าปกติ

การรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

  • กรณีกระดูกสันหลังคดเล็กน้อย หากพบว่าเด็กเริ่มมีอาการกระดูกสันหลังคด แพทย์จะให้ใส่เสื้อเกราะให้รัด กระชับ เพื่อดัดกระดูกสันหลัง ป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากขึ้น หรือรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด แต่โรคนี้พบได้ ไม่ใช่เฉพาะกับเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่เองกระดูกสันหลังก็สามารถคดเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน หากปล่อยไว้ไม่รับการรักษาหรือทำกายภาพบำบัด เพราะกล้ามเนื้อบริเวณหลังที่ตึง เกร็ง จากการทำงานในท่าซ้ำๆ เดิมๆ จะไปดึงให้กระดูกสันหลังคดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ ในการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดจะเน้นการรักษาตามแนวกระดูกสันหลัง คือใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดร่วมกับการบริหารร่างกาย เพื่อลดการตึง เกร็งของกล้ามเนื้อ และหากได้ทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เนิ่นๆ กระดูกสันหลังก็จะสามารถกลับมาตรงได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

  • กรณีกระดูกสันหลังคดมาก จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีกระดูกคดมากกว่า 45 องศา โดยการใช้โลหะดามกระดูกสันหลังให้ตรงขึ้น และเชื่อมข้อกระดูกสันหลังให้ติดแข็งในแนวที่จัดไว้ ซึ่งหลังผ่าตัดควรงดกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้วยกระดูกสันหลังประมาณ 6-9 เดือน เช่น การก้ม บิดตัว แล้วจึงออกกำลังกายที่ไม่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

ข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page