“กายภาพบำบัด” ทางเลือกใหม่ของการรักษา
“กายภาพบำบัด” คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้วสำหรับคนไทยในปัจจุบันนี้ เนื่องจากนับวันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดเพิ่มมากขึ้น เพราะพฤติกรรมการทำงานของคนไทยอยู่ในลักษณะนั่งอยู่กับที่ ทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานหนักบางส่วนจนเกิดการบาดเจ็บ รวมทั้งสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 2552 และในปี 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมด 65.9 ล้านคน ซึ่งทางมูลนิธิสถาบันวิจัยและการพัฒนาผู้สูงอายุไทยคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งผลิตนักกายภาพบำบัดออกมาเพื่อรองรับสถานการณ์ให้มากขึ้นตาม
จากสถิติดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าในอนาคตการรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดจะเป็นที่นิยมมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้บำบัดผู้ป่วยตั้งแต่เด็กแรกเกิด ไปจนถึงผู้สูงอายุ ได้แก่ ทารกที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับกระดูก และกล้ามเนื้อตั้งแต่กำเนิด ผู้ป่วยที่เป็นโรคหมอนรองกระดูทับเส้นประสาท ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือจากการผ่าตัด ผู้สูงอายุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดในสมอง และผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ปวดเมื่อยเรื้อรังตามบ่า ไหล่ หลัง แขน และขา แต่ในการรักษาต้องมีความต่อเนื่องเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถหายขาดได้ แต่ก็ต้องปรับพฤติกรรมการเดิน ยืน นั่ง นอน ให้ถูกวิธีด้วย
ซึ่งการทำกายภาพบำบัดจะช่วยป้องกัน ลดความเจ็บปวดตามอวัยวะส่วนต่างๆ ที่เกิดปัญหา และฟื้นฟูสุขภาพ เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ รวมทั้งจัดการปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือความบกพร่องของร่างกาย โดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดผสมผสานกับวิธีหัตถการ คือการดึง ดัด จัดกระดูก เพื่อรักษาผู้ป่วยให้กลับมาเคลื่อนไหวเป็นปกติมากที่สุด และเนื่องจากเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ มีผลข้างเคียงน้อย จึงเหมาะกับคนทุกเพศทุกวัย
ถึงแม้กายภาพบำบัดจะเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษาสำหรับคนไทยยุคปัจจุบัน แต่ในอนาคต “กายภาพบำบัด” จะเข้ามามีบทบาททางการแพทย์มากขึ้น และได้รับการสนับสนุน และพัฒนามากขึ้น
แหล่งข้อมูลจาก : มูลนิธิสถาบันวิจัยและการพัฒนาผู้สูงอายุไทย