top of page

ใครที่นั่งหลังค่อมบ่อยๆ ระวังจะค่อมถาวร



นั่งหลังค่อมแรกๆ ก็รู้สึกปกติดีหรอก แต่นานไปคุณจะปวดหลัง และสุดท้ายอาจจะหลังค่อมถาวร แต่ยิ่งไปกว่านั้นคือผลที่ตามมาน่ะสิ

“หลังค่อม(kyphosis)” อาการที่ใครหลายๆคนรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นอิริยาบถยอดฮิตที่หลายๆคนมักทำ ในตอนแรกที่ทำจะให้ความรู้สึกดี เป็นท่าที่สบาย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป หากยังทำอิริยาบถเช่นนี้อยู่ ก็จะเกิดติดเป็นนิสัย กลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก ส่งผลเสียต่อทั้งบุคลิกภาพ และสภาพร่างกาย


หลายๆคนอาจยังไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว การนั่งหลังค่อม มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างแนวกระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้นอาจทำให้เกิดปัญหา และโรคอื่นๆตามมาได้


ดังนั้น น้องสรีจะมาบอกเล่าให้ทุกๆคนได้รู้จักกับอาการหลังค่อมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อาการหลังค่อมคืออะไร? มีวิธีแก้หลังค่อมยังไงได้บ้าง? ติดตามไปพร้อมๆกันได้ในบทความนี้


อาการ หลังค่อม (kyphosis) เป็นอย่างไร

อาการหลังค่อม หรือ kyphosis คือ การที่โครงสร้างกระดูกสันหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงไป เกิดลักษณะโค้งงอผิดปกติที่กระดูกสันหลังบริเวณคอและหน้าอกมากกว่า 50 องศาขึ้นไป ซึ่งอาการนี้มักพบได้ในกลุ่มวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยสูงอายุ

นอกจากมีอาการหลังค่อมแล้ว บางรายอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดตึงหลัง เกิดความเจ็บปวดที่แนวกระดูกสันหลัง หายใจไม่สะดวก หรือมีอาการไหล่ห่อ เป็นต้น


นั่งหลังค่อมส่งผลต่อแนวกระดูกสันหลัง

การนั่งหลังค่อมเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากจะทำให้เสียบุคลิกแล้ว การอยู่ในอิริยาบถนี้นานๆ จนติดเป็นนิสัย ยังพาให้แนวกระดูกสันหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไปจากปกติ (Posture) อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง นอกจากนี้ยังพาอีกหลายโรคตามมาด้วย เช่น ปวดหลัง หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคกระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ (Kyphosis) โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)


สาเหตุ หลังค่อม หลังงอ เกิดจากอะไร

การที่คนหลังค่อม หรือหลังงอนั้น สามารถเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ได้แก่…

  • การมีพฤติกรรมหรืออิริยาบถที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่น การนั่งหลังงอ นั่งเอนหลังบ่อยๆ การแบกของหรือสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมากจนเกินไป

  • ความเสื่อมของกระดูกสันหลังตามอายุที่มากขึ้น

  • ลักษณะทางพันธุกรรม เช่น ภาวะกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์ หรือ กระดูกสันหลังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ เป็นต้น

  • การเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคกระดูกพรุน(Osteoporosis) โรคกล้ามเนื้อเสื่อม(Muscular Dystrophy) โรคมะเร็ง หรือการเป็นวัณโรค เป็นต้น

  • เกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการบาดเจ็บที่บริเวณกระดูกสันหลัง

สัญญาณเตือนก่อนหลังค่อมถาวร

หากร่างกายเริ่มมีอาการเจ็บ ปวด ชา ร้าว นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายคุณต้องการการบำบัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญต้องรู้จักปรับการนั่ง ยืน เดิน นอน ปรับอิริยาบถต่างๆ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม มีช่วงพักผ่อนบ้าง ไม่นั่งทำงานอย่างต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการเคลื่อนไหว จะทำให้บรรเทาอาการปวดได้เป็นอย่างดี

แนวทางการรักษา หลังค่อม ทำได้อย่างไรบ้าง

หากใครที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ แล้วคิดว่าตนเองน่าจะเข้าข่ายมีอาการหลังค่อม ก็ไม่ต้องตกใจกันไป เพราะอาการหลังค่อมรักษาได้ โดยแนวทางการรักษาหลักๆ มีดังนี้


1. กายภาพบำบัด

การทำกายภาพบําบัด เป็นการแก้หลังค่อมคอยื่นโดยไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่จะใช้วิธีการฝึกฝนท่าบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ และการใช้อุปกรณ์ทางศาสตร์กายภาพบำบัดแทน ซึ่งที่กล่าวมานี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของนักกายภาพบำบัด

  • ท่าที่ 1

ท่าแรกนี้ ให้คุณหาพื้นที่ที่สามารถนอนคว่ำได้ ยื่นแขนทั้ง 2 ข้างออกไปด้านหน้า และจากนั้น ให้ยกทั้งแขนและขาขึ้นลง ประมาณ 10 ครั้ง

  • ท่าที่ 2

ให้คุณนั่งอยู่บนเก้าอี้ โดยประคองตัวให้หลังตรง วางเท้าสัมผัสพื้น ยกมือทั้ง 2 ข้างขึ้นประสานกันไว้ที่ท้ายทอย จากนั้นค่อยๆกางไหล่ออกจนสุด และแอ่นหน้าอกขึ้น ทำท่านี้ประมาณ 5 เซ็ต แต่ละเซ็ตค้างไว้ประมาณ 30 วินาที

  • ท่าที่ 3

ให้คุณหาพื้นที่โล่งๆที่สามารถนอนคว่ำได้ โดยอาจใช้แผ่นยางออกกำลังกายรองที่พื้นก่อน จากนั้นให้คุณนอนคว่ำหน้า วางฝ่ามือทั้งสองไว้ด้านข้างหน้าอก และต่อไป ให้ออกแรงดันพื้นให้แขนเหยียดตึงเท่าที่สามารถจะทำได้ ทำท่านี้ประมาณ 5 เซ็ต แต่ละเซ็ตค้างไว้ 30 วินาที


นอกจากนี้ นักกายภาพบำบัดจะมีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยรักษาอาการหลังค่อม เพื่อลดความเจ็บปวด เพิ่มความสะดวกสบาย ปลอดภัย และตรงจุดในการรักษามากยิ่งขึ้น โดยเครื่องมือที่ใช้ ยกตัวอย่างเช่น…

  • การอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

  • การประคบร้อน (Hot Pack)

อย่างไรก็ตาม การทำกายภาพบำบัด ไม่ได้มีประโยชน์แค่รักษาหลังค่อมเท่านั้น แต่ยังสามารถกายภาพบําบัดกล้ามเนื้ออักเสบ หรือออฟฟิศซินโดรมกายภาพบําบัด ได้เช่นเดียวกัน


2. รับประทานยา

การรักษาอาการหลังค่อม สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยากลุ่ม NSAIDs เช่น ยา Ibuprofen, ยา Naproxen เพื่อทำให้อาการเจ็บปวดต่างๆลดลง ทั้งนี้ การรับประทานยาใดๆ แพทย์จะเป็นผู้ประเมิน และพิจารณาการให้ตัวยาในแต่ละรายบุคคล


3. การผ่าตัด

ก่อนที่จะได้เข้ารับการผ่าตัด จะต้องมีการประเมินถึงระดับความรุนแรงของอาการ ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และสภาพร่างกายเสียก่อน โดยผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด จะต้องมีความโค้งของกระดูกสันหลังมากกว่า 75 องศา หรือเป็นผู้ที่มีระดับอาการหลังค่อมรุนแรง และผู้ที่รักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วไม่ได้ผล


4. การใช้อุปกรณ์เสริม

เชื่อว่าใครหลายๆคนอาจยังไม่รู้ ในความเป็นจริงแล้ว มีอุปกรณ์ที่สามารถช่วยผู้ที่อยู่ในภาวะหลังค่อมได้ เพียงแต่แพทย์จะทำการพิจารณาถึงความจำเป็นในแต่ละรายบุคคล เช่น ผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก และมีภาวะหลังค่อม แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้อุปกรณ์ค้ำกระดูก เพื่อรอให้กระดูกสันหลังมีการเจริญเติบโตเต็มที่ก่อน เป็นต้น


ภาวะแทรกซ้อนของหลังค่อม

รู้หรือไม่? เพียงแค่คุณมีอาการหลังค่อม คอยื่น ก็อาจทำให้เกิดอีกหลากหลายโรคตามมาได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังนี้

  • อาการปวดหลัง

  • โรคกระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ(Kyphosis)

  • โรคกระดูกสันหลังคด(Scoliosis)

  • กระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท

  • เกิดปัญหาที่ระบบทางเดินหายใจ

  • มีปัญหาทางด้านบุคลิกภาพ และด้านจิตใจ เช่น รู้สึกอาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่อยากเข้าสังคม

สรุป

“อาการหลังค่อม” เป็นอาการยอดฮิตที่เกิดขึ้นในคนส่วนมาก ซึ่งทั้งวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยสูงอายุ ก็มีโอกาสในการเป็นภาวะหลังค่อมได้เช่นเดียวกัน การที่โครงสร้างกระดูกสันหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติไป ก็ส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆด้วย ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะนี้ มีอาการอื่นๆร่วมด้วย จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษา เพื่อทำให้ระดับอาการไม่รุนแรงไปมากกว่านี้


แล้วแบบนี้ควรเลือกกายภาพบําบัดที่ไหนดี? ที่สรีรารักกายภาพบำบัด เรามีนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญ ที่มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง พร้อมไปด้วยประสบการณ์การทำกายภาพบำบัดอาการหลังค่อม รวมไปจนถึงการกายภาพไหล่ติด และอื่นๆอีกมากมาย อีกทั้งยังมีเครื่องมือเฉพาะทางที่จะช่วยลดอาการ

Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
bottom of page